วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วันนี้หมิวจะมาบอกความเป็นมาของคำว่าไกด์และมัคคุเทศก์ นิยามของไกด์ และลักษณะของการที่ทำน่าค่ะ

คำว่าไกด์นั้นเป็นการเรียกทับคำศัพท์ในภาษาอังกฤษ แต่ถ้าเป็นคำไทยจริง ๆ ก็คือ มัคคุเทศก์ นั่นเอง และคำว่า "มัคคุเทศก์" นี้ ก็เป็นการผสมคำ คือเป็นสมาสของคำว่า "มรรค" หรือ "มคค" (ทาง) กับคำว่า "อุทเทสก" (ผู้ชี้แจง) โดยสรุปได้เป็นคำจำกัดความว่า มัคคุเทศก์ คือผู้คอยบรรยายชี้แจงเกี่ยวกับการเดินทางนั่นเอง อีกประการหนึ่ง มัคคุเทศก์คืออาชีพ ๆ หนึ่งซึ่งเป็นอาชีพสุจริต ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ชื่ออาชีพ ของไกด์ หรือมัคคุเทศก์สามารถพิมพ์ได้หลายแบบดังนี้ค่ะ
มัคคุเทศก์ Guides, Sightseeing Guides Travel Guides

นิยามอาชีพ
ผู้ปฏิบัติงานอาชีพนี้ทำหน้าที่ในการนำนักท่องเที่ยว หรือนักเดินทาง เดินทางท่องเที่ยว ทัศนาจรตามสถานที่ต่างๆ ตามแผนการทัศนาจร หรือตามโครงการนำเที่ยวของบริษัทจัดการนำเที่ยว หรือตามความต้องการของนักท่องเที่ยวหรือนักเดินทาง ในการให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวด้วยการอธิบาย และบรรยายถึงสภาพ และสถานที่เที่ยวที่สำคัญด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจ

ลักษณะของงานที่ทำ
ปฏิบัติงานอาชีพนี้ จะต้องศึกษา ค้นคว้า หาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่นำเที่ยว รวมทั้งความรู้ด้าน ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ จารีตประเพณี วัฒนธรรม วางแผนกำหนดเส้นทาง จัดกำหนดการนำเที่ยว ให้เหมาะสมกับฤดูกาล และระยะเวลา ติดต่อสถานที่พักแรม หรือเตรียมอุปกรณ์เพื่อการพักแรมในสถานที่ ที่จะนำเที่ยว
นำนักท่องเที่ยวชมสถานที่ และบรรยายให้นักท่องเที่ยวได้ทราบความเป็นมาของสถานที่ และท้องถิ่น แหล่งธรรมชาติที่น่าชม และน่าสนใจ ภูมิประเทศ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม จารีตประเพณี ความเป็นอยู่ของประชาชน
จัดการพักแรม และดูแลให้ความสะดวกสบาย ความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวในระหว่างการนำเที่ยว โดยพยายามจัดการให้บริการที่ต้องสร้างความพอใจ และประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวทุกคนอย่างทั่วถึงและต้องมีจรรยาบรรณทางวิชาชีพ
อาชีพมัคคุเทศก์ จัดแบ่งออกเป็นกลุ่มตามกลุ่มของนักท่องเที่ยว คือ มัคคุเทศก์พาเที่ยวภายในประเทศ (Domestic) มัคคุเทศก์ท้องถิ่น และมัคคุเทศก์นำเที่ยวชาวต่างประเทศ (Inbound) นอกจากนี้ ยังแบ่งกลุ่มมัคคุเทศก์ตามลักษณะของการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์เดินป่า มัคคุเทศก์ทางทะเล มัคคุเทศก์ศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น